การจัดการเรียนรู้แบบวรรณี

การจัดการเรียนรู้แบบวรรณี

ความเป็นมา
รองศาสตราจารย์วรรณี โสมประยูร แห่งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นผู้คิดสร้างวิธีสอนหรือรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักที่สำคัญเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเรียนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กไทยในระดับประถมศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งได้ทดลองและปรับปรุงแก้ไขแล้วจึงเริ่ม แพร่หลายอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์การศึกษาของชนชาติไทยที่ได้มีครูไทยสร้างสรรค์รูปแบบการสอนขึ้นใช้เด็กใช้สอนเด็กไทยเป็นผลสำเร็จถือว่าเป็นนวัตกรรมภูมิปัญญาที่เป็นของคนไทย โดยครูไทยและเพื่อเด็กไทยโดยเฉพาะ สมควรได้รับการยกย่องจากวงการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง

ความหมายและคุณลักษณะ
การจัดการเรียนรู้แบบวรรณี เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้หรือวิธีสอนรูปแบบหนึ่งที่มีคุณลักษณะเฉพาะ ซึ่งวรรณี โสมประยูร (2541: 12-13) เสนอไว้ดังนี้
1. เป็นรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ที่ประกอบด้วยกระบวนการสอนแบบขั้นตอนซึ่งสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ แต่ผู้สอนก็สามารถยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนได้  ขั้นตอนเหล่านี้เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนหรือยุ่งยากและสามารถใช้วิธีสอนหรือกิจกรรมต่างๆได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งสื่อการเรียนการสอนและอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบก็ยังหาง่ายอีกด้วย
2. ในรูปแบบการสอนมีขั้นนำและขั้นทบทวนแยกออกจากกันเพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ขั้นสอนสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และยังมีขั้นสร้างเจคติอีกด้วย เพื่อช่วยโน้มน้าวจิตใจให้ผู้เรียนเกิดศรัทธาและมองเห็นคุณค่าของเนื้อหาและรักวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น
3. ทุกขั้นตอนในรูปแบบการสอน เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและมีอิสระในการคิดการแสดงออกและการปฏิบัติเพื่อสร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมทั้งให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ได้อย่างเต็มที่
4. ช่วยเพิ่มบรรยากาศสุนทรีการสอนคณิตศาสตร์ให้มีชีวิตชีวาน่าสนใจ และสนุกสนาน ซึ่งทำให้ทางผู้สอนและผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะถือว่าความน่าเบื่อ และความเคร่งเครียดนั้นเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเรียนรู้
5. เน้นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมทุกๆด้าน ในด้านลักษณะขององค์รวมผลการเรียนรู้ที่ได้รับจากการนำรูปแบบการสอนไปใช้ จึงอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างน่าพอใจเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนความคงทนในการเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งพบจากผลวิจัยหลายครั้งว่า ได้ผลสูงกว่ารูปแบบการสอนอื่น ซึ่งผู้สอนทั่วไปใช้กันอยู่ภายในประเทศ
6. มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทุกด้าน ในลักษณะผสมผสานหรือบูรณาการเป็นหลัก

วัตถุประสงค์
วรรณี โสมประยูร ( 2541 : 18) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของวิธีการสอนแบบวรรณี  ไว้ดังนี้
1. เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิดค้นและค้นพบองค์ความรู้และสร้างมโนมติได้จากประสบการณ์ของตนเองและสามารถนำสิ่งที่ค้นพบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง
2. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและให้แสดงพฤติกรรมหรือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองมากที่สุด พร้อมทั้งเน้นการเรียนรู้ด้วยการกระทําประกอบสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ
3. เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักการเรียนและทำงานอย่างมีระเบียบและเป็นระบบ อันจะส่งผลช่วยให้ยกระดับศักยภาพในการเรียนรู้หรือมีการเปลี่ยนแปลงด้วยกรรมได้อย่างสมบูรณ์ทุกๆด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งให้เรียนวิชาคณิตศาสตร์ด้วยความสุขและรักวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้น
4. เพื่อช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในวิชาคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของผู้เรียนตามโรงเรียนทั่วไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งเพื่อช่วยยกระดับความคงทนในการเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย

องค์ประกอบสำคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบวรรณีมีองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้
1.บทเรียนหรือเนื้อหาใหม่
2. กิจกรรมประกอบด้วย 
     2.1 กิจกรรมรับความสนใจ
     2.2 กิจกรรมสร้างความเข้าใจ
     2.3 กิจกรรมเสริมความเข้าใจ
     2.4 กิจกรรมสรุปความเข้าใจ
3. แบบฝึกทักษะ
4. ผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้หรือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบวรรณีนั้น วรรณี โสมประยูร (2541: 29-38) เสนอไว้ ดังนี้
1. ขั้นนำ เป็นการเร้าความสนใจของนักเรียนเพื่อให้ตื่นเต้นกระตือรือร้นและอยากเรียนรู้ในบทเรียนพอความสนใจของเด็กซึ่งเป็นรากฐานของความตั้งใจเรียนอย่างแท้จริง ดังนั้น ขั้นแรกนี้ผู้สอนต้องพยายามใช้กิจกรรมปลุกเร้าความสนใจให้ผู้เรียนเริ่มเรียนด้วยความสนุกสนาน ร่าเริง เรียนด้วยความสุข และมีสมาธิไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะเรียน เช่นใช้เพลงประกอบท่าทาง เกม นิทาน สถานการณ์ ดนตรีหรือกิจกรรมเข้าจังหวะต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศให้นักเรียนมีอารมณ์สดชื่นแจ่มใส     ไม่เครียด เพราะความเครียดนั้นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสติปัญญาและความรู้  ในตอนท้ายขั้นนำครูก็ควรแจ้งจุดประสงค์ให้ผู้เรียนทราบว่าเมื่อเรียนจบบทเรียนแล้ว ผู้เรียนจะมีความสามารถอย่างไรบ้าง
2. ขั้นทบทวน เป็นขั้นทบทวนความรู้หรือทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่มีอยู่เดิม และที่สัมพันธ์กับเนื้อหาใหม่ที่จำเป็น เพื่อนำไปสู่เนื้อหาใหม่ และเป็นการเชื่อมโยงความรู้เดิมเข้ากับความรู้ใหม่ให้มีส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยครูอาจจะใช้เกม นิทาน ปัญหาสถานการณ์ การคิดในใจ และกิจกรรมอื่นๆพร้อมทั้งใช้สื่อการสอนหรือวัตถุประสงค์แสดงประกอบ เช่น ครูอาจใช้เกมโดมิโน่มาช่วยในเรื่องการบวกเศษส่วน เป็นต้น   สำหรับขั้นทบทวนนี้จะใช้เวลามากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนและความยากง่ายของบทเรียนที่จะทบทวน และที่จะสอนนั้นด้วยการทบทวนนั้นมีความจำเป็นอย่างมากเพราะการเรียนรู้ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้เดิมเป็นสำคัญ ด้วยความรู้เดิมจะมีส่วนเกี่ยวข้องและสร้างความรู้ความเข้าใจเนื้อหาในบทเรียนใหม่ ได้เป็นอันมากเนื่องจากธรรมชาติของความรู้หรือเนื้อหาของวิชาคณิตศาสตร์และจะต้องสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกันเป็นแบบลูกโซ่  
3. ขั้นสอน เป็นขั้นที่ครูนำเสนอบทเรียนใหม่หรือเนื้อหาใหม่ซึ่งควรแบ่งออกเป็นตอนๆเพื่อให้เข้าใจง่าย โดยเฉพาะเด็กเล็กควรแบ่งเป็นตอนสั้นๆ จะสะดวกยิ่งขึ้นเมื่อผู้เรียนเข้าใจดีแล้ว ก็จำเป็นจะต้องให้ฝึกปฏิบัติตามบทเรียนทุกๆตอนเหล่านั้นด้วย ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากและมักจะต้องใช้เวลามากกว่าขั้นอื่นๆ เพื่อเป็นขั้นที่ทำให้เกิดแนวคิดมโนมติหรือ Concept โดยครูควรใช้ของจริง หรือของจำลอง รูปภาพและสัญลักษณ์ พร้อมทั้งยกตัวอย่างกิจกรรมประกอบเนื้อหาแน่นๆ เพื่อให้นำไปสู่การวิเคราะห์การคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารการคาดคะเนการแก้ปัญหาและการคิดคำนวณได้ดีในที่สุดสำหรับเนื้อหาหรือทักษะที่จะนำมาให้เด็กนั้นจำเป็นต้องพิจารณาถึงระดับความยากง่ายและความเหมาะสมตามระดับพัฒนาการของผู้เรียนในห้องเรียนนั้นๆเป็นสำคัญ รวมทั้งวิธีการสอนและกิจกรรมและสื่อการสอนต่างๆก็ดี  ครูจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมด้วยเช่นเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นสอนนี้มีทั้งกิจกรรมสร้างความเข้าใจและกิจกรรมเสริมความเข้าใจ ซึ่งครูจำเป็นต้องกระทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในแผนภูมิจึงจะปรากฏผลดี
4. ขั้นสรุป มีทั้งสรุปความเข้าใจ สรุปวิธีทำและสรุปวิธีแก้ปัญหา เพื่อต้องการให้ผู้เรียนช่วยกันสรุปมโนมติหลักการวิธีแก้ปัญหา และประโยคสัญลักษณ์ การคิดคำนวณ วิธีลัด ข้อควรสังเกต สูตรและกฎ    โดยครูอาจใช้คำถามเพื่อถามนำทั้งตัวคำตอบและวิธีการที่จะได้คำตอบนั้นมาด้วยการใช้เทคนิคการถามหลายๆแบบและให้ทุกๆคนได้มีส่วนร่วม รวมทั้งควรจะยกย่องชมเชยหรือให้แรงเสริมและให้กำลังใจเป็นพร้อมกันด้วย ประเด็นสำคัญก็คือ จะต้องให้ผู้เรียนทุกคนช่วยกันสรุปเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ด้วยตัวผู้เรียนเอง ถ้าสรุปผิดพลาดไปก็ให้ช่วยกันแก้ไขจนถูกต้อง ความรู้นั้นๆจึงจะมีความหมายและเป็นประโยชน์มาก รวมทั้งให้เกิดความคงทนในการเรียนรู้ได้ดีและความรู้ความเข้าใจเหล่านี้เองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนทำแบบฝึกหัดได้อย่างถูกต้อง ในขั้นฝึกทักษะอย่างไรก็ตามในขั้นสรุปนี้ ถ้าครูพบว่าผู้เรียนยังไม่เข้าใจเนื้อหา วิธีทำหรือวิธีแก้โจทย์ปัญหาอยู่อีกจำเป็นต้องกลับไปเสนอเนื้อหาใหม่อีกครั้งหนึ่ง                                               
5. ขั้นสร้างเจตคติ เนื่องจากวิชาคณิตศาสตร์ เป็นวิชาที่มีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นนามธรรมและต้องศึกษาโดยใช้เหตุผล ดังนั้นความรักและความสนใจในการเรียนการสอนวิชานี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เมื่อผู้เรียนเรียนด้วยความไม่เข้าใจ ก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายหรือไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ ถ้าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์อยู่ในสถานการณ์ที่ตกต่ำและเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีเจคติหรือทัศนคติต่อวิชาต่างๆนั้นย่อมเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายๆอย่าง ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  การสร้างเจตคติในที่นี้ควรเริ่มด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้การสร้างสัมพันธภาพด้วยมิตรไมตรีและความเป็นกันเองการสร้างบรรยากาศที่สุนทรียภาพ และถูกสุขลักษณะรวมทั้งบุคลิกภาพ และสวนคดีทางอารมณ์ของครู และพฤติกรรมการสอนหรือการควบคุมชั้นเรียนก็มีส่วนร่วมด้วยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากผู้เรียนมิใช่เรียนโดย การใช้สมองหรือสติปัญญาเท่านั้น แต่เขาต้องเรียนด้วยร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมไปด้วยความพร้อมกัน  ตัวอย่างกิจกรรมสำคัญที่ครูอาจจะใช้สร้างใช้เจตคติหรือเพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นประโยชน์และคุณค่าของบทเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ เช่นให้ผู้เรียนช่วยกันยกตัวอย่างประกอบบทเรียนที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในชีวิตจริง ลองให้ผู้เรียนเปรียบเทียบสถานการณ์ใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน ให้ผู้เรียนอธิบายแสดงความคิดเห็นเป็นในแง่มุมต่างๆทั้งในแง่บวกและ ทางลบ  ให้ช่วยกันสรุปประโยชน์และคุณค่าของบทเรียนที่มีต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งการใช้สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ต่างๆประกอบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสร้างจิตสตินั้นจะแทรกอยู่ในการเรียนการสอนทุกๆขั้นมีใช่เฉพาะในขั้นนี้เท่านั้น
6. ขั้นนำไปใช้ ในการสอนวิชาคณิตศาสตร์นั้นนอกจากครูจะสอนให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น  แก้ไขปัญหาเป็นแล้ว ครูยังต้องช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้ทันที  ก็จะเกิดความประทับใจและเป็นการเรียนรู้ที่มีความคงทนได้นานมาก กิจกรรมในขั้นนี้เป็นขั้นทดสอบความเข้าใจของผู้เรียนจึงมุ่งที่จะลองให้ผู้เรียนได้รู้จักนำปัญหาตามธรรมชาติที่หลากหลายและท้าทายความคิด ในชีวิตประจำวันทั้งของส่วนตัวและส่วนรวมไปฝึกแก้ปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เพื่อจะได้นำวิธีการหรือแนวทางในการแก้ปัญหาถ่ายโยงไปใช้ในชีวิตจริงได้โดยเน้นให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันและช่วยเหลือกันและกัน กล่าวคือต้องการให้ผู้เรียนมีความสามารถทั้งการพึ่งพาตนและพึ่งพากันเอง โดยการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกอย่างทั่วถึง รวมทั้งครูควรให้กำลังใจและแรงเสริมไปมาพร้อมกัน
7. ขั้นฝึกทักษะ เป็นขั้นฝึกความรู้ความเข้าใจให้เกิดเป็นทักษะการคิดคำนวณ ทักษะการแก้ปัญหาและ เกิดความคงทนในการเรียนรู้ เพื่อนำไปใช้การเรียนคณิตศาสตร์ และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน รวมทั้ง นำไปใช้ในการเรียนวิชาอื่นด้วยโดยให้ผู้เรียนฝึกทำแบบฝึกหัดจาก แผนภูมิ บัตรงาน หนังสือเรียน และแบบฝึกหัดเสริมทักษะ ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นควรจะมีทั้งกิจกรรมแบบรายบุคคลและกิจกรรมที่ทำร่วมกัน    แบบฝึกหัดอาศัยทักษะนี้ ครูควรต้องจัดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบทเรียน เพื่อจะได้พัฒนาความคิดของผู้เรียนให้มีความเข้าใจในเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น เช่น ผู้อ่านฝึกให้นักเรียนรู้จักอ่านตีความโจทย์ ช่วยกันสร้างประโยคสัญลักษณ์ และโจทย์ปัญหาขึ้น แล้วทำแบบฝึกหัด เป็นต้น ขณะที่ผู้เรียนกำลังทำงานอยู่นั้น ครูควรจะเดินสำรวจเพื่อสังเกต และให้คำแนะนำหรือชี้แนะอย่างใกล้ชิด แต่ก็ต้องให้โอกาสผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติได้อย่างมีอิสรภาพเต็มที่ด้วย
8. ขั้นประเมินผล เป็นขั้นสุดท้ายของกระบวนการสอน มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจตรวจสอบผลการเรียนรู้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบทเรียนหรือไม่อย่างไร ครูควรจะทำการประเมินตามสภาพความเป็นจริงที่ผู้เรียนสามารถปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดเวลา ครูอาจใช้วิธีวัดผลต่างๆ เช่นสังเกตการตอบคำถามหรือการถามคำถามทุกขั้นตอนการสอนที่ผ่านมา สังเกตการปฏิบัติกิจกรรมการเรียน และการมีส่วนร่วมรวมทั้งตรวจผลงานการทดสอบย่อย และทดสอบรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้คำถามของครู เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนแน่นอน และถูกต้องจากเด็กนั้นนับเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา ครูผู้สอนจำเป็นต้องใช้เทคนิคหรือศิลปะที่ดีในการถาม เช่นต้องใช้ภาษาที่เหมาะสมเข้าใจ ไม่สับสน หรือซับซ้อนลำดับความเป็นมาของคำถามได้ดีคำถามที่มีจุดเน้นท้าทายชวนให้ตอบและชี้แนะแนวทางในการตอบเอาไว้ด้วย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถสรุปใจความที่สำคัญได้ดี และปฏิบัติตามได้ทันทีพร้อมกันนี้การให้แรงเสริมหรือคำชมเชยก็เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ครูผู้สอนควรจะต้องกระทำควบคู่ไปด้วยกันเสมอ  สิ่งสำคัญในการในขั้นประเมินผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อผู้เรียนปฏิบัติหรือทำงานเสร็จและครูได้ผลในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งแล้วควรรีบแจ้งผลการประเมินให้ผู้เรียนทราบโดยเร็วเพื่อเด็กๆ จะได้ชมชื่นชมหรือพึงพอใจในผลงานของตน หรือถ้าหากมีข้อผิดพลาดหรือสิ่งบกพร่องครูควรแนะนำให้แก้ไขเสียโดยถูกต้องด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นผลสะท้อนกลับที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กมาก

                ข้อแนะนำในการนำวิธีการสอนแบบวรรณีไปใช้
ขั้นตอนในรูปแบบการสอนทั้ง 8 ขั้นนี้ เป็นกรอบกระบวนการสอนที่ครูจะใช้เป็นแนวทางในการจัดดำเนินการสอนบทเรียนคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาให้เป็นไปตามข้อควรปฏิบัติและเงื่อนไขของวิธีการสอนแบบวรรณีอย่างไรก็ดี มิใช่ว่าครูจำเป็นต้องดำเนินการสอนให้เรียงลำดับไปตามขั้นตอนตั้งแต่ 1 ถึง 8 เสมอไปบางครั้งครูอาจใช้สอนสลับขั้นกันบ้างก็ได้สำหรับวิธีการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอนก็เช่นกัน บางกิจกรรมถ้าจำเป็นครูอาจจะใช้ครอบคลุมขั้นตอน ไปได้ 2 ถึง 3 ขั้นให้ต่อเนื่องกันไปก็ดี นอกจากนี้กิจกรรมในแต่ละขั้นตอนก็ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาให้มากนักและครูอาจใช้กิจกรรมง่ายๆทั่วไปได้ เช่นการตอบคำถาม ให้ดูสื่อ เขียนกระดานชอล์ก สรุปข้อควรสังเกต เสนอแนะวิธีใช้ และส่วนอื่นๆทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความถนัดความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคการสอนของครูผู้สอนแต่ละท่าน อีกประการหนึ่ง เนื่องจากคณิตศาสตร์เป็นวิชาประเภททักษะที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ด้วยเหตุและผล โดยการฝึกหัดคิดค้นและสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในทุกๆขั้นตอนครูจึงควรต้องเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยการให้ผู้เรียนมีโอกาสแสดงพฤติกรรมหรือกิจกรรมต่างๆด้วยตนเองให้มากที่สุด เพราะการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวของผู้เรียน ครูควรมีบทบาทเป็นเพียงผู้แนะนำหรือผู้อำนวยความสะดวกให้บ้างเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและให้ผู้เรียนได้มีโอกาสค้นพบความรู้เรื่องนั้นๆ ได้จากประสบการณ์ตนเอง

(www.slideshare.net/OrapanJantong/ss-53629430ได้รวบรวมวิธีการสอนแบบวรรณีไว้ว่า  เป็นวิธีสอนที่รองศาสตราจารย์วรรณี โสมประยูร อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ค้นคว้าทดลองและสร้างรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาขึ้น และได้เผยแพร่เข้าสู่วงการศึกษาอย่างเป็นทางการมาแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 
ขั้นตอนการสอน
1)  ขั้นนำ
– เร้าความสนใจ
– ฝึกสมาธิ
– ทบทวนพื้นความรู้เดิม
2)  ขั้นสอน สอนเนื้อหาใหม่โดยใช้
กิจกรรมให้เข้าใจโดยใช้ของจริง  ของจำลอง  ภาพ  สัญลักษณ์
– กิจกรรมเสริมความเข้าใจโดยใช้ภาพ สัญลักษณ์
– กิจกรรมเสริมสร้างเจตคติโดยใช้สถานการณ์ หรือเกม การแข่งขัน
3)  ขั้นสรุป
สรุปความเข้าใจ
สรุปวิธีลัด
สรุปวิธีแก้ปัญหา
4)  ขั้นฝึกทักษะ
ทำแบบฝึกหัด  บัตรงาน
5) ขั้นนำไปใช้
– ฝึกแก้โจทย์ปัญหาตามสถานการณ์
ส่งเสริมการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
6) ขั้นประเมินผล
สังเกตการณ์ตอบคำถาม  การทำกิจกรรม
ตรวจแบบฝึกหัด
– ทดสอบย่อยตามจุดประสงค์

สรุป
            รองศาสตราจารย์วรรณี โสมประยูรได้ค้นคว้าทดลองและสร้างรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาขึ้น สิ่งนั้นก็คือ การจัดการเรียนรู้แบบวรรณี  ซึ่งได้ทดลองและปรับปรุงแก้ไขแล้วจึงเริ่ม แพร่หลายอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
องค์ประกอบสำคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบวรรณีมีองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้
1.บทเรียนหรือเนื้อหาใหม่
2. กิจกรรมประกอบด้วย 
     2.1 กิจกรรมรับความสนใจ
     2.2 กิจกรรมสร้างความเข้าใจ
     2.3 กิจกรรมเสริมความเข้าใจ
     2.4 กิจกรรมสรุปความเข้าใจ
3. แบบฝึกทักษะ
4. ผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
1. ขั้นนำ เป็นการเร้าความสนใจของนักเรียนเพื่อให้ตื่นเต้นกระตือรือร้นและอยากเรียนรู้ในบทเรียน ทั้งการฝึกสมาธิ และทบทวนความรู้เดิม
2. ขั้นทบทวน เป็นขั้นทบทวนความรู้หรือทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่มีอยู่เดิม และที่สัมพันธ์กับเนื้อหาใหม่
3. ขั้นสอน เป็นขั้นที่ครูนำเสนอบทเรียนใหม่หรือเนื้อหาใหม่ โดยใช้กิจกรรมให้เข้าใจโดยใช้ของจริง  ของจำลอง  ภาพ  สัญลักษณ์  กิจกรรมเสริมความเข้าใจโดยใช้ภาพ สัญลักษณ์ และกิจกรรมเสริมสร้างเจตคติโดยใช้สถานการณ์ หรือเกม การแข่งขัน
4. ขั้นสรุป มีทั้งสรุปความเข้าใจ สรุปวิธีทำและสรุปวิธีแก้ปัญหา
5. ขั้นสร้างเจตคติ  การสร้างเจตคติในที่นี้ควรเริ่มด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้การสร้างสัมพันธภาพด้วยมิตรไมตรีและความเป็นกันเองการสร้างบรรยากาศที่สุนทรียภาพ และถูกสุขลักษณะรวมทั้งบุคลิกภาพ
6. ขั้นนำไปใช้ ในการสอนวิชาคณิตศาสตร์นั้นนอกจากครูจะสอนให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น  แก้ไขปัญหาเป็นแล้ว ครูยังต้องช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง
7. ขั้นฝึกทักษะ เป็นขั้นฝึกความรู้ความเข้าใจให้เกิดเป็นทักษะการคิดคำนวณ ทักษะการแก้ปัญหาและ เกิดความคงทนในการเรียนรู้ เพื่อนำไปใช้การเรียนคณิตศาสตร์ และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน อาจจะใช้แบบทดสอบ บัตรคำ เป็นต้น
8. ขั้นประเมินผล เป็นขั้นสุดท้ายของกระบวนการสอน มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจตรวจสอบผลการเรียนรู้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบทเรียนหรือไม่อย่างไร อาจจะใช้วิธีสังเกตการณ์ตอบคำถาม  การทำกิจกรรม ตรวจแบบฝึกหัด และทดสอบย่อยตามจุดประสงค์
          ในการเลือกวิธีการสอนหรือรูปแบบของการจัดการเรียนรู้ ครูก็ควรคำนึงถึงระดับความยากง่ายและความเหมาะสมตามระดับพัฒนาการของผู้เรียนในห้องเรียนนั้นๆ เป็นสำคัญด้วย และในทุกๆขั้นตอน ครูจึงควรต้องเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยการให้ผู้เรียนมีโอกาสแสดงพฤติกรรมหรือกิจกรรมต่างๆด้วยตนเองให้มากที่สุด ครูควรมีบทบาทเป็นเพียงผู้แนะนำหรือผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและให้ผู้เรียนได้มีโอกาสค้นพบความรู้เรื่องนั้นๆ ได้จากประสบการณ์ตนเอง

ที่มา

สุวิทย์ มูลคำอรทัย มูลคำ.(2545).วิธีการจัดการเรียนรู้21 วิธีการจัดการเรียนรู้:เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ(พิมพ์ครั้งที่ 3)กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การพิมพ์.
(https://www.slideshare.net/OrapanJantong/ss-53629430).การจัดการเรียนรู้แบบวรรณี.[ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อ 6 กันยายน 2561.



โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructionism)

ทฤษฎีของกลุ่มที่เน้นการฝึกจิตหรือสมอง (Mental Discipline)